กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดโผ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ธุรกิจที่ต้องปรับตัว ปี 2567 ตามคาดธุรกิจกีฬาและออกกำลังกาย จูงมือกันเติบโต ขณะที่อุตสาหกรรมหรือธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ไม่มีการปรับปรุงเทคโนโลยีหรือประสิทธิภาพการผลิตและบริการ เผชิญภาวะถดถอย คาดปี 2568 ภาคธุรกิจต้องเผชิญความท้าทาย แนะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่งและธุรกิจจากข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจเชิงลึก เช่น จำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ (กำไร-ขาดทุน) การเลิกประกอบกิจการ รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เช่น แนวโน้มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และการแข่งขันของธุรกิจ โดยผลการวิเคราะห์ฯ พบว่า ปี 2567
5 ธุรกิจดาวรุ่ง
1) กลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา สถานฝึกสอนกีฬา และธุรกิจจัดการแข่งขันกีฬา โดยปี 2567 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายสะสม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) 732 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 195 ราย (36.31%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 537 ราย) ทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่มีมูลค่า 1,751.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 713.57 ล้านบาท (68.77%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 1,037.62 ล้านบาท)
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจย่อยที่เติบโตได้ดี คือ การจัดตั้งธุรกิจด้านสถานที่ออกกำลังกายและสอนออกกำลังกายมีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 27% นอกจากกีฬาที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว ยังมีการออกกำลังกายแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เช่น โยคะ พิลาทิส (Pilates) การดำน้ำ เป็นต้น
โดยปี 2566 กลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย มีรายได้รวมอยู่ที่ 93,397.82 ล้านบาท สูงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
2) กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจความบันเทิงและการแสดงโชว์ โดยปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิงมีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 1,976 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 477 ราย (31.82%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 1,499 ราย) ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 6,427.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 1,740.48 ล้านบาท คิดเป็น 37.13% (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 4,687.02 ล้านบาท)
ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจย่อยที่เติบโตได้ดี คือ ธุรกิจความบันเทิง การแสดงโชว์ ก็มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่มีกว่า 31.72% มูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่า 1.82 เท่า
3) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจผลิตตัวถังยานยนต์ ในปี 2567 เฉพาะกลุ่มธุรกิจย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 61%
โดยปี 2566 กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีรายได้รวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท ปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 1,033 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 183 ราย (21.53%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 850 ราย)
ขณะที่ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 7,797.57 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 3,560.37 ล้านบาท (31.35%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 11,357.94 ล้านบาท) เนื่องจากปี 2566 มีนิติบุคคลในกลุ่มการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีทุนจดทะเบียนสูงหลายราย ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนจัดตั้งในปี 2567 ลดลง
4) กลุ่มธุรกิจ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจแพลตฟอร์ม e-commerce ธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้า ธุรกิจกล่องบรรจุพัสดุ ปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) กลุ่มธุรกิจ e-commerce มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 2,283 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 365 ราย (19.03%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จัดตั้ง 1,918 ราย) ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 3,979.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 755.31 ล้านบาท (23.42%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 3,224.59 ล้านบาท) ปี 2566 กลุ่มธุรกิจ e-commerce มีรายได้รวม 444,101.69 ล้านบาท
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจย่อยการผลิตกล่องกระดาษที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งในปี 2567 เพิ่มสูงขึ้นกว่า 77% และทุนจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.41 เท่า รวมทั้งธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องจากการค้าในรูปแบบ Cross-Border e-Commerce เป็นโอกาสที่เปิดกว้างการค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจ
5) กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่ ธุรกิจการผลิตภาพยนต์ วิดีทัศน์ รายการโทรทัศน์ และการตัดต่อภาพและเสียง ปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 242 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 22 ราย (10%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 220 ราย) ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 630.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 340.09 ล้านบาท คิดเป็น 1.16 เท่า หรือ 116.92% (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 290.89 ล้านบาท)
5 ธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว
1) ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี ได้แก่ ธุรกิจผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ขั้นต้น ขั้นกลาง เหล็กแผ่น ธุรกิจผลิตโลหะมีค่า ธุรกิจผลิตโลหะที่เป็นโครงสร้างของการก่อสร้างอาคาร ธุรกิจผลิตเครื่องประดับ การเจียระไน เพชรพลอย เป็นต้น ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี ปี 2567 เผชิญภาวะถดถอยทั้งจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจและมูลค่าทุนจดทะเบียน
โดยในปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 306 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 18 ราย (5.56%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 มีจำนวน 324 ราย) และมูลค่าทุนจดทะเบียน 2,492.42 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 73.14 ล้านบาท (2.85%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 2,565.56 ล้านบาท)
2) ธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกแบบออฟไลน์ (ร้านค้าโชห่วย) ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่นๆ ในร้านค้าทั่วไป ปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 1,466 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 18 ราย (1.21%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 1,484 ราย) และมูลค่าทุนจดทะเบียน 2,004.79 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 4.51 ล้านบาท (0.22%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 2,009.29 ล้านบาท)
3) ธุรกิจสื่อและการประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ ได้แก่ ธุรกิจพิมพ์หนังสือพิมพ์และวารสาร ธุรกิจจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่โบรชัวร์ใบปลิวและสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ธุรกิจกิจกรรมเผยแพร่ภาพยนตร์ฯ (จำหน่ายฟิล์มภาพยนตร์ให้แก่โรงภาพยนตร์ เครือข่ายโทรทัศน์ ฯลฯ) เป็นต้น
ธุรกิจสื่อและการประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ถดถอยอย่างชัดเจน ปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 13 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 17 ราย (56.67%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 มีจำนวน 30 ราย) และมูลค่าทุนจดทะเบียน 10.40 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 34.20 ล้านบาท (76.68%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 44.60 ล้านบาท)
4) ธุรกิจแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ได้แก่ ธุรกิจแปรรูปและการถนอมผลไม้และผักด้วยวิธีอื่น ๆ ธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำด้วยการอบแห้ง การรมควัน การทำเค็ม การหมักในน้ำเกลือ หรือน้ำส้มสายชูธุรกิจการผลิตเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีกด้วยการ อบแห้ง การทำเค็มหรือการรมควัน ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 123 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 40 ราย (24.54%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 163 ราย) และมูลค่าทุนจดทะเบียน 311.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 294.43 ล้านบาท (5.87%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 17.29 ล้านบาท)
5) ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า ได้แก่ ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและตัวแทนออก ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้า ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า ปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 2,037 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 357 ราย (14.91%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 2,394 ราย) และมูลค่าทุนจดทะเบียน 5,865.61 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 6,565.32 ล้านบาท (52.81%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 12,430.93 ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี ในปี 2568 ภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอแนะนำให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต/การบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจและเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันในลักษณะการช่วยเหลือเกื้อกูล
นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง มีการใช้ Data เป็นตัวช่วยตัดสินใจทางธุรกิจ และปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องติดตามข่าวสารและแนวโน้มการประกอบธุรกิจทั้งของประเทศไทยและทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและรวดเร็ว ดังนั้น ผู้ประกอบการที่รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและสามารถปรับตัวได้ทัน จะช่วยให้สามารถรับมือและนำพาธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจและธุรกิจมีความมั่นคง